ไส้เดือนดินจัดอยู่ในกลุ่มผู้ย่อยสลายซากอินทรีย์ในระบบนิเวศ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ตามที่อยู่อาศัยและนิสัยในการกินอาหารคือ ไส้เดือนดินที่อาศัยอยู่ตามผิวดินหรือใต้ซากอินทรีย์ และไส้เดือนดินที่อาศัยอยู่ใต้ดินโดยการขุดรูอยู่

 

โดยไส้เดือนดินที่อยู่ตามผิวดินหรือใต้ซากอินทรีย์จะมีประสิทธิภาพในการย่อยสารอินทรีย์ในดินได้ดีกว่า และมีการขยายพันธุ์ที่รวดเร็วกว่าด้วย โดยทั่วไปในธรรมชาติไส้เดือนดินมีอายุที่ยาวนาน ตั้งแต่ 4-10 ปีขึ้นอยู่กับชนิดของไส้เดือนดิน แต่เมื่อนำมาเพาะเลี้ยงมักพบว่าไส้เดือนดินมีอายุสั้นลง โดยทั่วไปจะมีอายุเฉลี่ยไม่เกิน 2 ปี

 

สภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตของไส้เดือนดิน

1. ความชื้นไส้เดือนดินแต่ละชนิดจะเจริญเติบโตได้ดี ในความชื้นที่แตกต่างกัน เช่น ความชื้นที่เหมาะสมต่อไส้เดือนดินที่อาศัยอยู่ใต้ดินคือ 40-70% ส่วนไส้เดือนดินที่อาศัยใต้กองมูลสัตว์หรือซากอินทรีย์จะเจริญเติบโตได้ดี ที่ความชื้น 70-80% เป็นต้น

2. อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของไส้เดือนดิน อยู่ในช่วง 15-28 องศาเซลเซียส โดยไส้เดือนดินในเขตร้อนจะทนต่ออุณหภูมิสูงได้ดีกว่าไส้เดือนดินในเขตอบอุ่น

3. ความเป็นกรด-ด่างโดยทั่วไปความเป็นกรด-ด่างที่เหมาะสมต่อไส้เดือนดินอยู่ในช่วง 6.0-8.0 อย่างไรก็ตามพบว่าไส้เดือนดินบางชนิดสามารถอาศัยอยู่ในสภาพที่เป็นกรดจัดได้ (3.7-4.7)

4. ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ไส้เดือนดินจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในดินที่มีความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ระหว่าง 0.01-11.5% ถ้ามีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่สูงกว่าที่กำหนดจะเป็นอันตรายต่อ ไส้เดือนดิน

 

ประโยชน์และความสำคัญของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน

1. ส่งเสริมการเกิดเม็ดดิน

2. เพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุแก่ดิน

3. เพิ่มช่องว่างในดินให้การระบายน้ำและอากาศดียิ่งขึ้น

4. ส่งเสริมความพรุนของผิวหน้าดิน ลดการจับตัวเป็นแผ่นแข็งของหน้าดิน

5. ช่วยให้ระบบรากพืชสามารถแดร่กระจายตัวในดินได้กว้าง

6. เพิ่มขีดความสามารถในการดูดซับน้ำในดิน ทำให้ดินชุ่มขึ้น

7. เพิ่มธาตุอาหารพืชให้แก่ดินโดยตรงและเป็นแหล่งอาหารของสัตว์และจุลินทรีย์ดิน

8. เพิ่มศักยภาพการแลกเปลี่ยนประจุบวกของดิน

9. ช่วยลดความเป็นพิษของธาตุอาหารพืชบางชนิดที่มีปริมาณมาเกินไป เช่น อลูมินัม และแมงกานีส

10. ช่วย เพิ่มความต้านทานในการเปลี่ยนแปลงระดับความเป็นกรด-เบส (Buffer capacity) ทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไม่เร็วเกินไปจนเป็นอันตรายต่อพืช

11. ช่วย ควบคุมปริมาณไส้เดือนฝอยในดิน เนื่องจากการใส่ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินจะทำให้มีปริมาณจุลินทรีย์ที่สามารถ ขับสารพวกอับคาลอยด์และกรดไขมันที่เป็นพิษต่อไส้เดือนฝอยได้เพิ่มขึ้น

 

วิธีการเลี้ยงไส้เดือนดินในบ่อซีเมนต์

1. ใส่ขี้วัวลงไปในบ่อซีเมนต์ 1-1 ½ กระสอบ แล้วทำให้ขี้วัวเย็นด้วยการรดน้ำขี้วัวประมาณ 1-2 สัปดาห์ จากนั้นใช้มือล้วงลงไปในขี้วัว ถ้ามือเราเย็นนั้นคือขี้วัวพร้อมใช้ทำปุ๋ยแล้ว

2. นำไส้เดือนดินใส่ลงไปบนขี้วัว ประมาณ 1-2 กิโลกรัม ใส่ลงไปโดยที่ไม่ต้องฝังตัวเค้าลงใต้ขี้วัว

3. ให้ความชื้นโดยการรดน้ำ 3-4 วันต่อครั้ง ประมาณ 1-2 เดือน ก็สามารถเก็บปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนไปใช้กับพืช หรือจำหน่ายได้

 

เอกสารอ้างอิง

ธณัจกร เค้าละมูล. (2559). วิธีการเลี้ยงไส้เดือนดิน-วิธีทำปุ๋ยหมักมูลไส้เดือน. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561, จากเว็บไซต์: http://www.baannoi.com/ปุ๋ยหมักอินทรีย์

             ชีวภาพ/28-การเลี้ยงไส้เดือนเพื่อทำปุ๋ยหมักมูลไส้เดือน.html.

ธีธัช บำรุงทรัพย์. (2554). ประโยชน์ของมูลไส้เดือน. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2561, จากเว็บไซต์: https://teetatfarm.wordpress.com/knowledge/.