จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง (photosybthetic bacteria; PSB) เป็นแบคทีเรียพบกระจาย ทั่วไปในธรรมชาติ ตามแหล่งน้ำจืด น้ำเค็ม

ทะเลสาบน้ำเค็ม นอกจากนี้ ยังพบตามแหล่งน้ำเสีย บ่อบำบัดน้ำเสีย บทบาทของจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง มีความสำคัญในกระบวนการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ (CO2 - assimilation) และการตรึงไนไตรเจน (nitrogen fixation) นอกจากนี้ ยังมีบทบาท สำคัญในห่วงโซ่อาหารซึ่งสัตว์ขนาดเล็ก ปลา กุ้ง หอย และปู สามารถนำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงมา ใช้เป็นอาหารได้ นอกจากนี้ ในน้ำเสียจาก
บ้านเรือนและน้ำเสียจากการทำปศุสัตว์สามารถบำบัดด้วย จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงได้อย่างมีประสิทธิภาพPhotosynthetic-bacteria-001

 

 

            จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงสีม่วง (purple photosynthetic bacteria) สำหรับจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงสีม่วงที่นำมาใช้ในทางด้านการเกษตร และสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่จะอยู่ ในกลุ่มจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงสีม่วงกลุ่มไม่สะสมกำมะถัน ซึ่งพบได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติใน ชั้นน้ำที่มีแสงสว่างส่องถึงมีสารอินทรีย์ และพบการรวมตัวกันเป็นกลุ่มในแหล่งน้ำที่ไม่มีออกซิเจน มีแสงเล็กน้อย ในแหล่งน้ำจืดที่มีซัลไฟด์อยู่จะพบน้อยมาก แต่บางชนิดก็อาศัยอยู่ได้ในที่ที่มีปริมาณ ซัลไฟด์อยู่สูง นอกจากนี้ ยังพบได้ในพื้นดิน สระน้ำ คลอง หรือแหล่งน้ำที่สกปรก เช่น บ่อบำบัดน้ำ เสีย ซึ่งมีปริมาณสารอินทรีย์สูง จึงเป็นแหล่งที่จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงกลุ่มดังกล่าวเจริญได้ดี ความมหัศจรรย์ของแบคทีเรียชนิดนี้ อยู่ตรงกระบวนการที่อยู่ในเซลล์ เมื่ออยู่ในสภาวะที่มี แสงก็เกิดกระบวนการที่ใช้แสง ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่มีแสงก็เปลี่ยนมาใช้อีกกระบวนการที่ไม่ใช้แสงทำให้มี ชีวิตอยู่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็ใช้ประโยชน์จากการกระบวนการดำรงชีวิตตรงนี้ ในแง่ของการเลี้ยง การบำบัดน้ำเสีย เอามาใช้ในการบำบัดดินโดยไม่ต้องเอามาพักในบ่อซึ่งเป็นระบบบำบัด

 

ประโยชน์ของจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง

  1. ประโยชน์ต่อการเกษตร

1.1 ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยหลักลงถึงมากถึงร้อยละ 50 ในกรณีใช้ต่อเนื่อง

1.2 ลดก๊าชไข่เน่าในดิน ช่วยให้รากพืชขยายได้ดีและดูดซึมปุ๋ยได้ดีขึ้น

1.3 เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะการใช้เพิ่มผลผลิตข้าวได้มากถึงร้อยละ 30 ต่อไร่ เพราะดินในบริเวณราก ข้าวจะเกิดแก๊สไข่เน่า (ไฮโดรเจนซัลไฟด์) ซึ่งไปยับยั้งการดูดซึมของรากข้าว แต่จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงจะไปเปลี่ยนแก๊ส ไข่เน่าให้ไปอยู่ในรูปสารประกอบซัลเฟอร์ที่ไม่เป็นพิษต่อรากทำให้รากข้าวเจริญงอกงามสามารถดูดซึมอาหารให้ต้นข้าวแข็งแรงและขจัดสารพิษในนา

1.4 ทำให้รากของพืชแข็งแรงสามารถหาอาหารได้เก่งสามารถดูดซึมสารอาหารได้มากขึ้น จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ยังมีโปรตีนสูงและวิตามินแร่ธาตุมากมาย เป็นประโยชน์กับพืชอย่างมากเพิ่มคุณภาพผลผลิตได้อีกด้วย

1.5 พืชมีความแข็งแรงต้านทานโรคและแมลงต่างๆได้ดีและ ช่วยเพิ่มแร่ธาตุในดิน เช่น ไมคอริซ่าอาโซโตแบคเตอร์ เป็นต้น

อัตราการใช้ 

            ผสม จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง  200 ซีซี ต่อ น้ำ 20 ลิตร ต่อ พื้นที่ 1 ไร่ หรือใช้เพียง 30 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นภายใน 5 วัน โดยพ่นลงบนใบของพืช อีกทั้งยังสามารถผสมจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงในการทำปุ๋ยได้ โดยผสม จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง 1 ลิตร ต่อปุ๋ยหมัก 1,000 กิโลกรัม ซึ่งจะทำให้ปุ๋ยดีขึ้นโดยเพิ่มไนโตรเจน ช่วยในการย่อยสลายอินทรีย์สาร และการละลายปุ๋ยเคมีที่สะสมอยู่ในดินในดิน ป้องกันไม่ให้ดินเป็นกรด จะเห็นความแตกต่าง ของการเจริญเติบโตของพืช

 

  1. ประโยชน์ต่อสัตว์น้ำและปศุสัตว์

2.1 เมื่อนำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงไปผสมเป็นสารอาหารเสริมในสัตว์ ช่วยให้ แข็งแรง ปลอดโรค โตไว มีคุณภาพเพิ่มผลผลิต  เพราะเซลล์ของจุลินทรีย์นี้ประกอบด้วยโปรตีนสูงถึง ร้อยละ 60-65 มีกรดอะมิโนที่จำเป็นครบถ้วนและยังมีวิตามินแร่ธาตุ เช่น วิตามิน บี 1 กรดฟอลิค (B9) วิตามิน ดี วิตามิน บี 2 วิตามิน บี 12 วิตามิน อี วิตามิน บี 3 วิตามิน ซี วัตถุสีแดง(CAROTENOID) และให้สารโคแฟคเตอร์ เช่น ยูนิควิโนน โคเอนไซม์ Q ออกซิน ไซโตไคนิน ซีเอติน กรดบิวทีริกและกรดอะซิติก ทำให้น้ำหนักเพิ่ม ทำให้สัตว์โตเร็วขึ้น โดยเพิ่มสารอาหารแร่ธาตุที่จำเป็นต่อสัตว์ ทำให้คุณภาพของเนื้อและสีของเนื้อดี ทำให้รสชาติของเนื้อสัตว์ดีขึ้น

2.2 ช่วยลดแก๊สและของเสีย หรือสิ่งปฏิกูลในเล้าสัตว์ ช่วยทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น โดยช่วยกำจัดของเสียและกลิ่นเหม็นจากของเสียของสัตว์ ทำให้สัตว์มีชีวิตชีวา ไม่ต้องหายใจเอาแก๊สเสียเข้าร่างกาย และช่วยทำให้สัตว์ไม่เครียดโดยลดจำนวนแมลงที่รบกวนสัตว์

2.3 ช่วยป้องกันให้สัตว์มีความทนทานต่อแบคทีเรีย เชื้อโรคต่างๆที่ไม่ดีมากขึ้น ช่วยลดแบคทีเรีย ที่อวัยวะภายในของสัตว์

2.4 โปรตีนในจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ช่วยเพิ่มให้คุณภาพของเนื้อสัตว์น้ำ ให้ดีขึ้น โดยเพิ่มสารอาหารเข้าไปทำให้ร่างกายของสัตว์น้ำ มีความสมดุล อีกทั้งทำให้สัตว์น้ำ มีสีตามธรรมชาติและทำให้แข็งแรง ทำให้มีอาหารของสัตว์น้ำ เพิ่มขึ้นโดยการเพิ่มแพลงตอนในน้ำมากกว่าเดิม 70 เท่าและสามารถใช้เป็นอาหารของตัวอ่อนหรือไข่ปลาได้

 2.5 เพิ่มอัตราการเก็บเกี่ยวและการรอดตายของสัตว์น้ำ ช่วยป้องกันโรคที่เกิดมาจากแบคทีเรีย จำพวก บาซิลลัส (Bacillus )และ ไมล์ดิว(mildew) และยังช่วยย่อยขี้สัตว์น้ำ เลน ได้ดี ทำให้น้ำมีความสะอาดลดแก๊สเสียในน้ำทำให้อัตราการอยู่รอดของสัตว์น้ำสูงขึ้น

อัตราการใช้

ปศุสัตว์

- ใช้ทำความสะอาดคอกปศุสัตว์ อัตราส่วนจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง 1 ลิตร ต่อน้ำ 1,000 ลิตร และฉีดพ่นในคอก อัตราส่วนจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง 1 ลิตร ต่อน้ำ 100 ลิตร ทุกๆ 1 เดือน

- ใช้ผสมให้สัตว์กิน โดย ผสมน้ำ อัตราส่วน จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง 1 ลิตร ผสมลงในแท็งก์น้ำให้สัตว์กิน ทุกๆ 2 วัน และผสมอาหาร อัตราส่วนจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง 1 ลิตร ต่ออาหาร 5 กิโลกรัม

สัตว์น้ำ

- อัตราส่วน จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง 10 ลิตร ต่อบ่อขนาด 1 ไร่ หรือใช้จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง  1 ลิตร ต่อน้ำ 500 ลิตร เพื่อสาดเทหรือฉีดพ่นหลังทำการจับสัตว์น้ำและพักบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ

- ผสมลงน้ำในการเพาะเลี้ยงอนุบาลสัตว์น้ำ และบ่อสัตว์น้ำขนาดใหญ่ ด้วยอัตราส่วนจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง 1 ลิตร ต่อน้ำ 1,000 ลิตร ติดต่อกัน 5 วัน ต่อไปใส่ทุกๆ 7 วัน/ครั้ง

                       

วิธีการขยายจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง

วัสดุอุปกรณ์

  1. ไข่ไก่หรือไข่เป็ด จะใหม่ หรือเก่าก็ได้ ไข่เน่ายิ่งขยายได้ไวมาก 30 ซีซี หรือ 3 ช้อนโต๊ะ
  2. ผงชูรส 1 ช้อนโต๊ะ
  3. ขวดน้ำสะอาด(ล้างและตากแห้งให้สนิท ห้ามมีไอน้ำเกาะที่ก้นขวด) ไม่เปื้อนน้ำมัน
  4. น้ำสะอาด จากเครื่องกรองน้ำดื่มหรือ น้ำที่มีฉลากขายทั่วไป (ห้ามนำน้ำจากโอ่ง บ่อ หรือเก็บไว้นานเพราะอาจมีตะใคร่น้ำหรือสาหร่าย) จำนวน 5 ลิตร
  5. กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ
  6. น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ

ขั้นตอนวิธีการขยาย

  1. ตีไข่ให้ละเอียด จากนั้นผสมส่วนผสมลงในภาชนะ น้ำ 5 ลิตร ไข่ 3 ช้อนโต๊ะ ผงชูรส 1 ช้อนโต๊ะ กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ ผสมส่วนผสมให้เข้ากัน
  2. จากนั้นเติมจุลิทรีย์ลงไปผสมในภาชนะดังกล่าว จำนวน 1 ลิตร ผสมให้เข้ากัน
  3. กรอกใส่ขวดที่เตรียมไว้
  4. นำไปตากแดด ประมาณ 5-7 วันสีจะเข้มสามารถนำไปใช้งานได้ แต่ถ้าจะเก็บเป็นเชื้อต้นเพื่อขยายต่อต้องตากแดดอย่างน้อย 15 วันขึ้นไป หรือเก็บไว้ 1เดือนแล้วเติมส่วนผสมลงไปอีก และรอจนสีเข้มมากๆแล้วจึงนำไปขยายต่อ

 

 

เอกสารอ้างอิง

ภานุพงศ์ สะและหมัด. (2561). วิธีทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง โดยไม่ต้องใช้หัวเชื้อ. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561, จากเว็บไซต์: https://www.blog-cocosth.com/2017/11/จุลินทรีย์-psb/.

ไม่ระบุ. (2560). จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง (photosybthetic bacteria; PSB). สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2561, จากเว็บไซต์: http://www.kasetkawna.com/article/276/จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง-photosybthetic-bacteria-psb