ลำไยพันธุ์ดอ หรืออีดอ
เป็นลำไยพันธุ์เบา คือออกดอกและเก็บผลก่อนพันธุ์อื่น ชาวสวนนิยมปลูกมากที่สุด ราคาดี เป็นพันธุ์ที่เจริญเติบโตดี โดยเฉพาะในดินอุดมสมบูรณ์ และมีน้ำพอเพียง ทนแล้งและทนน้ำได้ดีปานกลาง พันธุ์ดอแบ่งตามสีของยอดอ่อนได้ 2 ชนิดคือ
* อีดอยอดแดง เจริญเติบโตเร็วมากเมื่อเปรียบเทียบกับอีดอยอดเขียว ลำต้นแข็งแรงไม่ฉีกหักได้ง่าย เปลือกลำต้นสีน้ำตาลปนแดง ใบแบนสีแดงปัจจุบันดอยอดแดงไม่ค่อยนิยมปลูก เนื่องจากออกดอกติดผลไม่ดี และเมื่อผลเริ่มสุกถ้าเก็บไม่ทันผลจะร่วงเสียหายมาก
* อีดอยอดเขียว มีลักษณะต้นคล้ายอีดอยอดแดง แต่ใบอ่อนเป็นสีเขียว ออกดอกติดผลง่าย แต่อาจไม่สม่ำเสมอ นอกจากนี้ลำไยพันธุ์อีดอยังแบ่งตามลักษณะของก้านช่อผลได้ 2 ชนิด คือ อีดอก้านอ่อน เปลือกของผลจะบาง และอีดอก้านแข็ง เปลือกผลจะหนาผลขนาดค่อนข้างใหญ่ ทรงผลกลมแป้น เบี้ยวยกบ่าข้างเดียว ผิวสีน้ำตาล มีกระหรือตาห่าง สีน้ำตาลเข้ม เนื้อค่อนข้างเหนียว สีขาวขุ่น เมล็ดขนาดใหญ่ปานกลาง รูปร่างแบนเล็กน้อย
คุณค่าทางอาหารของลำไย
เนื้อลำไยสดมีน้ำตาลอยู่ 3 ชนิด คือ กลูโคส ฟรุตโตส และ ซูโครส กรดอะมิโน อีกประมาณ 9 ชนิด เนื้อลำไยอบแห้งมีเกลือแร่ที่มีประโยชน์ที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อยอยู่ด้วย เช่น ทองแดง สังกะสี แมงกานีส เป็นต้น
การวิเคราะห์ส่วนประกอบของลำไยสดและลำไยแห้ง
ส่วนประกอบของลำไย |
เนื้อลำไยสด |
เนื้อลำไยแห้ง |
|
ความชื้น |
ร้อยละ |
81.10 |
17.80 |
ไขมัน |
ร้อยละ |
0.11 |
0.40 |
เส้นใย |
ร้อยละ |
0.28 |
1.60 |
โปรตีน |
ร้อยละ |
0.97 |
4.60 |
เถ้า |
ร้อยละ |
0.56 |
2.86 |
คาร์โบไฮเดรต |
ร้อยละ |
16.98 |
72.70 |
ค่าพลังงานความร้อน |
กิโลแคลอรี / 100 กรัม |
72.79 |
311.80 |
แคลเซียม |
มิลลิกรัม / 100 กรัม |
5.70 |
27.70 |
เหล็ก |
มิลลิกรัม / 100 กรัม |
0.35 |
2.39 |
ฟอสฟอรัส |
มิลลิกรัม / 100 กรัม |
35.30 |
159.50 |
วิตามินซี |
มิลลิกรัม / 100 กรัม |
69.20 |
137.80 |
โซเดียม |
มิลลิกรัม / 100 กรัม |
- |
4.50 |
โปแตสเซียม |
มิลลิกรัม / 100 กรัม |
- |
2,012.0 |
ไนอาซีน |
มิลลิกรัม / 100 กรัม |
- |
3.03 |
กรดแพนโทธินิค |
มิลลิกรัม / 100 กรัม |
- |
0.57 |
วิตามิน บี2 |
มิลลิกรัม / 100 กรัม |
- |
0.375 |
ที่มา : กรมวิทยาศาสตร์บริการ |
ประโยชน์ของลำไย
1. ยับยั้งสารก่อมะเร็ง รศ.ดร.อุษณีย์ วินิจเขตคำนวณ อาจารย์จากภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยผลวิจัยที่ได้นำเนื้อลำไยอบแห้งไปทดลองแล้วพบว่า เนื้อลำไยอบแห้งมีฤทธิ์ต้านความเป็นพิษต่อยีน โดยการวิจัยได้นำเอาสารก่อมะเร็งจากอาหารปิ้งย่าง อาหารทอดด้วยความร้อนสูง และควันบุหรี่ มาผสมกับสารสกัดลำไย ซึ่งพบว่า เซลล์มะเร็งมีการตายแบบธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การวิจัยนี้ยังคงต้องพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ให้แน่ชัดกว่านี้ เพื่อตอบสนองความคาดหวังว่าจะใช้สารสกัดจากลำไยอบแห้งร่วมกับการรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัด หรือนำสารสกัดจากลำไยอบแห้งไปใช้ช่วยชีวิตผู้ป่วยมะเร็งในแง่อื่น ๆ เช่น ช่วยลดการใช้ยา หรือลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาในอนาคต
2. ช่วยย่อยอาหาร ลำไยสามารถช่วยกระตุ้นให้น้ำย่อยในกระเพาะอาการทำงานได้ และมีส่วนช่วยในการดูดซึมแคลเซียม เพิ่มแบคทีเรียที่มีประโยชน์ ลดแบคทีเรียไม่ดี ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้
3. บำรุงร่างกาย บำรุงเลือด บำรุงประสาท บำรุงตา และบำรุงหัวใจ เพราะมีแร่ธาตุ วิตามินและสารอาหารที่มีประโยชน์อยู่มาก
4. บำรุงผิวพรรณ เนื่องจากลำไยมีวิตามินซีและสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง และช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสีผิวเมลานิน จึงช่วยบำรุงผิวพรรณได้ รวมทั้งมีประสิทธิภาพดีกว่าเครื่องสำอางที่มีสารเคมีทั่วไปอีก
5. ลดอาการเครียด ลำไยมีวิตามินบี 12 ช่วยบำรุงสมอง รักษาอาการเครียด กระวนกระวาย แก้อาการอ่อนเพลีย
6. รักษาอาการอัลไซเมอร์ ในตำรายาจีนโบราณบอกเอาไว้ว่า การนำลำไยมาต้มกับโสม ให้ผู้สูงอายุหรือคนความจำไม่ดีดื่ม สามารถช่วยรักษาอาการอัลไซเมอร์ได้ เพราะโสมจะช่วยผ่อนคลายอารมณ์ และกระตุ้นการทำงานของสมอง ส่วนลำไยจะช่วยบำรุงสมองและทำให้ดื่มง่ายขึ้น
7. ป้องกันโรคโลหิตจาง สารอาหารในลำไยสามารถช่วยให้การไหลเวียนของเลือดและการดูดซึมธาตุเหล็กดีขึ้น จึงป้องกันโรคโลหิตจางได้
8. เติมความสดชื่นให้ร่างกาย เนื่องจากเป็นผลไม้รสหวานจึงมีคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลซูโครส กลูโคสสูง ซึ่งช่วยให้สดชื่นได้เร็ว ทำให้ลำไยเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานกับร่างกาย กินลำไยแล้วจึงรู้สึกสดชื่นขึ้นได้ทันที
เอกสารอ้างอิง
สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่. (2550). ลำไย. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน
2561, จากเว็บไซต์: http://www.ndoae.doae.go.th/article2010/longan/longan2010.html.
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. (2548). ลำไยรักษามะเร็ง. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน
2561, จากเว็บไซต์: http://elib.fda.moph.go.th/library/default.asp?page2=subdetail&id=321